อัศจรรย์ชีวิตผึ้ง




ผึ้งเป็นแมลงสังคมและจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจ ที่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นระยะเวลานานได้ โดยขาดความสัมพันธ์กับผึ้งวรรณะอื่นภายในสังคมเดียวกัน และมีระบบสังคมมาเป็นเวลานานถึงกว่า 30 ล้านปี ผึ้งแต่ละรังเปรียบเสมือนหนึ่งครอบครัว ผึ้งที่เลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมโดยทั่วไปนิยมเลี้ยงผึ้งพันธุ์ Apis mellifera สามารถแบ่งวรรณะตามหน้าที่ได้ 3 วรรณะ ดังนี้


1. ผึ้งนางพญา (The Queen)

เป็นผึ้งที่มีลำตัวใหญ่ที่สุด มีอายุขัยมากกว่า 1 ปี อาจได้มากถึง 7 ปี ลักษณะลำตัว มีปีกสั้นเพียงครึ่งลำตัว ท้องเรียวยาว ลำตัวสีดำออกหม่น ท้องมีสีน้ำตาล ก้นแหลม ขาหลังไม่มีที่เก็บเกสร ไม่มีต่อมผลิตไขผึ้ง มีหน้าที่ผสมพันธุ์ และวางไข่ ควบคุมประชากรผึ้งวรรณะอื่นด้วยฟีโรโมนส์ไปทั่วรัง โดยทั่วไปใน 1 รังจะมีผึ้งนางพญา 1 ตัวเท่านั้น ยกเว้นบางรังที่มีขนาดใหญ่ อาจพบได้ 2-3 ตัว ในระยะเติบโต แต่เมื่อถึงวัยผสมพันธุ์ก็จะแยกออกเหลือเพียง 1 ตัวต่อรังเหมือนเดิม เมื่ออายุได้ 3-5 วัน จะผสมพันธุ์กับตัวผู้ โดยการผสมพันธุ์ 1 ครั้งสามารถผสมกับตัวผู้ได้ 7-10 ตัว หรืออาจมากถึง 20 ตัวก็ได้ หลังจากนั้นจะวางไข่ โดยจะได้ไข่ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง และจะสามารถผสมพันธุ์ได้เพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิต ผึ้งนางพญามีเหล็กไนใช้สำหรับต่อสู้กับผึ้งนางพญาตัวอื่น ผึ้งนางพญาจะอาศัยบนรัง ไม่ออกหาอาหาร และถูกห้อมล้อมด้วยผึ้งงาน โดยที่ผึ้งงานจะใช้หนวดแตะ หรือใช้ลิ้นเลียตามลำตัวผึ้งนางพญาเพื่อทำความสะอาด และนำของเสียจากนางพญาไปปล่อยทิ้ง


2. ผึ้งตัวผู้ (The Drone)

เป็นผึ้งที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากผึ้งนางพญา และอ้วนสั้นกว่าผึ้งนางพญา มีอายุขัย 4-6 สัปดาห์ เป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กไน มีลิ้นสั้นสำหรับเลียรับอาหารจากผึ้งงาน ผึ้งตัวผู้จะอยู่บนรัง ไม่ออกหาอาหาร มีทำหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ คอยผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้ เป็นผึ้งที่เจริญมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสม หลังฟักออกจากดักแด้ 16 วัน จะสามารถผสมพันธุ์ได้ มีพฤติกรรมผสมพันธุ์ คือ ในวันที่มีอากาศดี อุณหภูมิเหมาะสม ผึ้งตัวผู้จะบินรวมกลุ่มกันบริเวณใกล้รังที่ใดที่หนึ่ง เมื่อมีผึ้งนางพญาบินผ่านก็จะบินเข้าเกาะด้านหลัง และผสมพันธุ์ หลังจากผสมพันธุ์ผึ้งตัวผู้จะตกตาย โดยยังค้างอวัยวะสืบพันธุ์ติดอยู่กับผึ้งนางพญา หากไม้ได้ผสมพันธุ์ก็จะบินกลับรังรอโอกาสในวันต่อไป หากหมดฤดูผสมพันธุ์ ถ้าผึ้งตัวผู้ตัวใดยังไม่ได้ผสมพันธุ์ก็จะถูกไล่ออกจากรังหรือผึ้งงานไม่ป้อนอาหาร และตายในที่สุด


3. ผึ้งงาน (The Worker)

เป็นผึ้งเพศเมีย มีขนาดเล็กที่สุด แต่มีปริมาณมากที่สุด 5,000-30,000 ตัว/รัง มีอายุขัย 6-8 สัปดาห์ เนื่องจากในระยะที่เป็นตัวอ่อน ได้รับอาหารพิเศษคือ นมผึ้ง หรือรอยัลเยลลี (royal jelly) เพียง ๓ วัน หลังจากนั้นตัวอ่อนผึ้งงานที่มีอายุมากขึ้น จะได้กินแต่เกสร และน้ำผึ้ง ทำให้ขบวนการพัฒนาแตกต่างไปจากผึ้งนางพญามาก ในขณะที่ผึ้งนางพญาได้กินนมผึ้งตั้งแต่เป็นตัวอ่อนอายุ ๑ วัน และได้กินต่อไปจนตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เพศเมีย ๒ วรรณะนี้ ผิดแผกแตกต่างกัน ทั้งลักษณะภายนอก และภายใน ตลอดจนภารกิจต่างๆ ผึ้งงานมีหน้าที่หลักในการทำงาน เช่น ทำความสะอาดรัง เลี้ยงดูป้อนอาหารให้ผึ้งตัวอ่อน สร้างและซ่อมแซมรัง เป็นทหารเฝ้ารัง ป้องกันศัตรู และหาอาหาร ผึ้งงานต้องรับภาระดังกล่าวเท่ากันทุกตัว ไม่มีการเอาเปรียบแก่งแย่งกัน หรือหลบงานเลย ทุกตัวรับผิดชอบงานของตนเอง โดยไม่มีใครบังคับ และไม่ต้องสั่งสอนกัน นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ผึ้งงานคือ หุ่นยนต์ที่มีชีวิตตัวน้อยๆ ทำงานเกือบตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย




วงจรชีวิตและการดำรงชีวิตของผึ้ง


การเจริญเติบโต (Development Stage)

ไข่ที่ผึ้งนางพญาวางออกมาจะมีลักษณะสีขาวยาวปลายมนทั้ง 2 ข้าง ไข่จะถูกวางตั้งขึ้นมาจากก้นหลอดรวง เมื่อไข่อายุได้ 3 วัน ก็จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนจะมีสีขาวลอยอยู่ในอาหารที่ผึ้งพยายามเอามาป้อนให้ ตัวอ่อนจะนอนขดอยู่ที่ก้นหลอดรวง เมื่อตัวอ่อนมีขนาดใหญ่ขึ้นเต็มก้นหลอดรวง ตัวอ่อนก็จะยืดตัวยาวออก โดยเอาหัวออกมาทางปากหลอดรวงแล้วเริ่มถักใยหุ้มตัว เริ่มเข้าดักแด้อยู่ภายในรังไหมนั้นแล้วก็จะออกมาเป็นตัวเต็มวัยต่อไปในระยะตัวอ่อน ผึ้งจะมีการลอกคราบ 5 ครั้ง การเจริญเติบโตของผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้และผึ้งงานจะคล้ายคลึงกันแตกต่างกันก็ที่ระยะเวลาของการเจริญเติบโตแต่ละขั้น


การสร้างรวง (Comb Building)

โดยปกติผึ้งงานจะใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งอยู่ภายในรัง และอีกครึ่งหนึ่งอยู่ภายนอกรัง งานสร้างรวงและเลี้ยงตัวอ่อนเป็นงานหลักที่สำคัญภายในรังผึ้ง ไขผึ้ง คือ วัสดุที่ผึ้งใช้ในการสร้างรวง ไขผึ้งถูกผลิตขึ้นมาจากต่อมผลิตไขผึ้งอยู่ที่ด้านล่างของปล้องท้องปล้องที่ 3-6 ของผึ้งงานปล้องละ 1 คู่ โดยจะมีทั้งหมด 4 คู่ ผึ้งงานที่ผลิตไขผึ้งได้โดยทั่วไป จะมีอายุอยู่ระหว่าง 12-17 วัน ไขผึ้งที่ผลิตออกมาจะเป็นเกล็ดบาง ๆ สีขาวใสมีขนาดเล็ก โดยผึ้งงานจะต้องกินน้ำหวานเป็นปริมาณมากมีผู้คำนวณว่าโดยเฉลี่ย ผึ้งจะใช้น้ำหวานประมาณ 8.4 กก. ในการผลิตไขผึ้ง 1 กก. ผึ้งก็จะเริ่มสร้างรวง โดยจะใช้ขาคู่หลังเกี่ยวเอาเกล็ดไขผึ้งใต้ท้องมาใส่ปากเคี้ยว โดยใช้ขาคู่หน้าช่วย ไขผึ้งที่ถูกผึ้งเคี้ยวใหม่จะมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ผึ้งก็จะนำไปติดกับส่วนรวงที่ต้องการสร้างแล้วทำการปั้นตามรูปร่างที่ต้องการ


การเลี้ยงดูตัวอ่อน (Nursing)

ผึ้งงานจะทำหน้าที่เป็นผึ้งพยาบาล หรือเลี้ยงดูตัวอ่อน ก็เมื่อมีอายุได้ประมาณ 3 วัน หลังจากฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัย จนมีอายุประมาณ 11 วัน ต่อมพี่เลี้ยงที่อยู่โคนกล้ามทั้ง 2 ข้างจะค่อย ๆ ฝ่อไป ผึ้งก็จะเปลี่ยนหน้าที่ไปผึ้งพยาบาลจะเข้าไปเยี่ยมดูแลไข่ทันทีที่ผึ้งนางพญาวางไข่ จากนั้นไข่นั้นก็จะถูก ตรวจเยี่ยมโดยผึ้งพยาบาลบ่อยครั้ง ในระยะไข่จนถึงระยะตัวหนอน ในช่วงอายุตัวหนอน 2 วันแรก หลังจากฟักออกจากไข่ ผึ้งพยาบาลจะให้อาหารแก่ตัวหนอนมากจนเกินพอเราจึงเห็นคล้ายกับตัวหนอนลอยอยู่ในอาหารที่คล้ายน้ำนมสีขาว อาหารที่มีอยู่ก็ถูกใช้ไปจนถึงวันที่ 4 อาหารที่ตัวหนอนลอยอยู่นั้น ก็จะถูกกินหมด ตัวหนอนก็ต้องคอยให้ผึ้งพยาบาลมาป้อน


 

การป้อนน้ำหวาน (Food Sharing)

ผึ้งสามารถจะกินน้ำหวานที่อยู่ในหลอดรวงได้ด้วยตัวเอง แต่บ่อยครั้งที่ผึ้งจะป้อนน้ำหวานซึ่งกันและกัน ผึ้งนางพญาและผึ้งตัวผู้เราแทบจะไม่พบเลยว่ากินอาหารด้วยตัวเอง ต้องอาศัยผึ้งงานมาป้อนให้เสมอ ความจริงแล้วการป้อนน้ำหวานจุดประสงค์ก็เพื่อเป็นการสื่อสารกันอย่างหนึ่ง เพราะในน้ำหวานที่ผึ้งป้อนซึ่งกันและกันจะมีสารเคมีที่มาจากผึ้งนางพญาหรือจากผึ้งงานตัวอื่น ๆ ปนอยู่ด้วย สารนี้สามารถแพร่กระจายไปได้ทั่วรังผึ้งในเวลาอันรวดเร็ว การป้อนอาหารนี้เกิดขึ้นเฉพาะการป้อนน้ำหวานเท่านั้น ส่วนละอองเกสรจะไม่มีการป้อนกัน ถ้าผึ้งต้องการกินเกสรก็จะไปกินเองจากหลอดรวงที่เก็บละอองเกสร


 

การป้องกันรัง (Guard Duty)

โดยทั่วไปผึ้งที่มีหน้าที่ป้องกันรังมักจะพบอยู่บริเวณปากทางเข้ารังผึ้ง แต่ในฤดูดอกไม้บาน (Honey Flow) จะมีผึ้งทหารอยู่ที่ปากทางเข้ารังน้อย ดังนั้นผึ้งจากรังอื่นที่ชิมน้ำหวานหรือเกสรมาด้วยเมื่อเข้าผิดรังก็อาจไม่ได้รับอันตราย แต่ถ้าเป็นฤดูที่น้ำหวานน้อยจะพบผึ้งทหารอยู่ที่ทางเข้ามากเพื่อคอยไม่ให้ผึ้งจากรังอื่นหรือศัตรูผึ้งอื่นเข้ามาขโมยน้ำหวานในรังผึ้ง ผึ้งทหารจะใช้เวลาตรวจสอบผึ้งที่เข้ามาในรังประมาณ 1-3 วินาที โดยจะใช้หนวดแตะตามลำตัว


การขโมยน้ำหวาน (Robbing)

การขโมยน้ำหวาน เรามักจะพบได้เสมอโดยเฉพาะในรังผึ้งที่อ่อนแอ คืออาจเป็นโรคแต่ผึ้งทหารก็สามารถรับรู้ได้โดยกลิ่นของผึ้งขโมยจะผิดแผกไป และลักษณะการบินจะบินวนเวียนอยู่หน้ารัง เมื่อผึ้งทหารจับผึ้งขโมยได้ก็จะเข้าทำการต่อสู่กัน โดยใช้ทั้งกรามและเหล็กไนเป็นอาวุธ ส่วนมากผลของการต่อสู้มักจะตายทั้งสองฝ่าย


 

ภาษาผึ้ง (Bee Gestures/Language)

เป็นภาษาใบ้ชนิดหนึ่ง โดยจะใช้ท่าทางการเต้นรำเพื่อเป็นการแสดงออกให้ผึ้งตัวอื่นรับรู้ การเต้นรําบอกแหล่งอาหารของผึ้งมีอยู่ 2 แบบ คือ การเต้นรําแบบวงกลมและการเต้นรําแบบส่ายท้อง

• การเต้นรําแบบวงกลม (round dance) เป็นการบอกตําแหน่งในระยะใกล้ไม่เกิน 100 เมตร ผึ้งที่สํารวจพบแหล่งอาหารจะกลับมาเต้นตามจุดต่างๆ ทั่วรัง เพื่อบอกเพื่อนๆ ผึ้งงานตัวอื่นๆ ยิ่งแหล่งอาหาร อุดมสมบูรณ์มาก ผึ้งนักสํารวจจะเต้นรุนแรงและรวดเร็ว

• การเต้นแบบส่ายท้อง (tail wagging dance) ใช้บอกแหล่งอาหารที่อยู่ไกลกว่า 100 เมตร ลักษณะการเต้นแบบนี้ท้องจะส่ายไปมา แล้วหมุนวนเป็นรูปเลข 8 และมีการเต้นบอกทิศทางระหว่างแหล่ง อาหาร ที่ตั้งของรัง และดวงอาทิตย์ ผึ้งสํารวจจะเต้นแบบนี้ซ้ํา แล้วจะซ้ำความรุนแรงของการเต้นเป็นสิ่งบ่ง บอกความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร ส่วนจํานวนรอบของการเต้น จะบอกระยะทางของแหล่งอาหาร


การเก็บอาหาร (Bee Food)

การเก็บน้ำหวานของผึ้งในแต่ละเที่ยวจะเลือกเก็บจากพืชเพียงชนิดเดียว จากการสังเกต พบว่า ผึ้งจะลงเก็บน้ำหวานสองครั้งจากดอกไม้ดอกเดียว แต่มักพบว่าก้อนเกสรที่ผึ้งเก็บมานั้นจะมีเกสรของพืชหลายชนิดปนอยู่ แต่จะมีพืชอาหารหลักชนิดใดชนิดหนึ่งมากที่สุด และมีเกสรจากพืชอื่นเพียง 2-4 ชนิดเท่านั้นที่ปะปนมา ผึ้งพันธุ์สามารถลงดอกได้มากกว่า 40 ดอกใน 1 นาที ผึ้งหนึ่งตัวสามารถออกหาอาหารได้มากถึง 4 ล้านเที่ยว โดยเฉลี่ยแล้วสามารถลงดอกได้ 100 ดอก ด้วยการใช้งวง แทงเข้าไปในต่อมน้ำหวานของดอกไม้ ดูดน้ำหวานมาเก็บไว้ในถุงน้ำหวานปริมาณเฉลี่ยของน้ำหวานที่ผึ้งเก็บไว้ในแต่ละเที่ยว ประมาณ 20-40 mg หรือประมาณ 90% ของน้ำหนักตัวผึ้ง การเก็บเกสรผึ้งจะใช้ลิ้น และขากรรไกรหลังเจาะ และกัดอับละอองเกสร ให้เกสรกระจายออกมาติดตามขน จากนั้นจะใช้ขาคู่กลาง และขาคู่หน้ารวมเกสรผสมกับน้ำหวานสำหรับปั้นให้เป็นก้อน ก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ที่ตะกร้าเกสรของขาคู่หลัง ก้อนเกสรที่เก็บจะมีน้ำหวานประมาณ 10% น้ำหนักก้อนเกสร ประมาณ 8-29 mg ประมาณการได้ว่าก้อนเกสรน้ำหนัก 20 กิโลกรัม จะมีก้อนเกสรประมาณ 2 ล้านก้อน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงต่อการเลี้ยงประชากรผึ้ง 1 รัง จำนวนครั้งในการบินออกหาอาหารของผึ้งพันธุ์ 5-10 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการอาหารของรังผึ้ง ความเร็วในการบินของผึ้งที่น้ำหวานอยู่เต็มกระเพาะ และเกสรอยู่เต็มตะกร้าเกสร ประมาณ 25 กม./ชั่วโมง ผึ้งที่บินออกจากรังมีความเร็วในการบิน 20 กม./ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับกิจกรรมของผึ้งในเส้นทางการบินไปยังแหล่งอาหาร ผึ้งจะหยุดบินเมื่อมีความเร็วลม 40 กม./ชั่วโมง





Certificate



© Copyright 2016 Bee Products Industry Co., Ltd. All Rights Reserved.

บริษัท บี โปรดักส์ อินดัสตรี้ จำกัด
สำนักงานเชียงใหม่ เลขที่ 164/98 ถ.ช้างคลาน ต.ช้างคลาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100
Tel. (053) 821247-8, Fax. (053) 274900, Email beeproducts063@gmail.com

ID line: bpimk001   Facebook: Beeproductsthai   Instagram: Beeproductsthai   We Chat Wechat: BPI-Shecow